แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับฝนหลวง

แนวพระราชดำริ

 

ในปี พ.ศ. 2498 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยพระราชพาหนะเครื่องบินพระที่นั่ง เพื่อทรงเยี่ยมเยียนทุกข์สุของพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือย่านบริเวณเทือกเขาภูพาน ทรงพบเห็นว่าภาวะแห้งแล้งได้ทวีความถี่และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับนั้น น่าจะมีสาเหตุเกิดขึ้นจากการผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ อีกทั้งการตัดไม้ทำลายป่าอาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้สภาพอากาศจากพื้นดินถึงระดับฐานเมฆไม่เอื้ออำนวยต่อการกลั่นตัวของไอน้ำที่จะก่อตัวเกิดเป็นเมฆ และทำให้ยากต่อการเหนี่ยวนำให้ฝนตกลงสู่พื้นดิน จึงมีฝนตกน้อยกว่าเป็นปกติหรือไม่ตกเลย ทรสังเกตว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมเหนือพื้นที่ระหว่างเส้นทางบินแต่ไม่สามารถก่อรวมตัวจนเกิดเป็นฝนตกได้ เป็นเหตุให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลายาวนานทั้งๆ ที่เป็นช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นฤดูฝน

เกิดสภาพความแห้งแล้งทั่วพื้นที่ทั้งๆ ท้องฟ้ามีเมฆมาก คือ จุดประกายข้อสังเกต ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะที่พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมประชาชนและทอดพระเนตรเห็นแต่ความแห้งแล้งเกิดขึ้นทั่วไป ทั้งๆ ที่ท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมอยู่ นอกจากนี้ได้ทรงพบเห็นท้องถิ่นหลายแห่งประสบปัญหาพื้นดินแห้งแล้ง หรือการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูเพาะปลูก เกษตรกรมักจะประสบความเดือดร้อนทุกข์ยากมาก เนื่องจากบางครั้งเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในระยะวิกฤติของพืชผลกล่าวคือหากขาดน้ำในระยะดังกล่าวนี้จะทำให้ผลผลิตต่ำหรืออาจไม่มีผลผลิตให้เลยรวมทั้งอาจทำให้ผลผลิตที่มีอยู่เสียหายได้ การเช่นนี้เมื่อเกิดภาวะฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงในคราใดของแต่ละปี จึงสร้างความเดือดร้อนอย่างสาหัสและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรอย่างใหญ่หลวงนอกจากนี้ภาวะความต้องการใช้น้ำของประเทศนับวันจะทวีปริมาณความต้องการสูงขึ้นอย่างมหาศาลเพราะการขยายตัวเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนจากทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดคือ ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลลดลงอย่างน่าตกใจ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับฝนหลวงแก่ข้าราชการสำนักงาน กปร. ประกอบด้วย นายสุเมธ ตันติเวชกุล  นายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์  และนายพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

 

…เรื่องฝนเทียมนี้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2498 แต่ยังไม่ได้ทำอะไรมากมาย เพราะว่าไปภาคอีสานตอนนั้นหน้าแล้งเดือนพฤศจิกายน  ที่ไปมีเมฆมาก อีสานก็แล้ง ก็เลยมีความคิด 2 อย่าง ต้องทำ Check dam ตอนนั้นเกิดความคิดจากนครพนม ผ่านสกลนครข้ามไปกาฬสินธุ์ ลงไปสหัสขันธ์ที่เดี๋ยวนี้เป็นอำเภอ  สมเด็จ…ไปจอดที่นั่นไปเยี่ยมราษฎรมันแล้ง  มีฝุ่น…

….แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ทำไมจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้ ก็เคยได้ยินเรื่องทำฝนก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้…นับเป็นต้นกำเนิดแห่งพระราชดำริ ฝนหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง…อย่างแท้จริง

ด้วยพระเนตรที่ยาวไกล และทรงความอัจฉริยะของพระองค์ท่านที่ประกอบด้วยคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ จึงทรงสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้นแล้ว จึงได้มีพระราชดำริครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2498 แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่าจะทรงค้นหาวิธีการที่จะทำให้เกิด ฝนตกนอกเหนือจากที่จะได้รับจากธรรมชาติ โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์กับทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดมีศักยภาพของการเป็นฝนให้ได้

ทรงเชื่อมั่นในพระราชหฤทัยว่าด้วยลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศของบ้านเราจะสามารถดำเนินการให้บังเกิดผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน  เนื่องจาก น้ำ เป็นที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงตลอดเวลาในสังคมไทยที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากขาดแคลนน้ำอยู่ในขณะนั้น  เป็นเพราะน้ำคือปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีพของมนุษย์และพืชพรรณธัญญาหารตลอดจนสิงสาราสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง  การขาดแคลนน้ำจึงมิได้มีผลโดยตรงแค่เพียงความเป็นอยู่ของประชาชนเท่านั้นแต่ยังได้ก้าวล่วงไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยส่วนรวมอีกด้วย และถึงขนาดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า น้ำ คือ ชีวิต

 

แม้ว่าประเทศไทยเราได้พยายามอย่างสุดกำลังที่จะทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการพัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำของชาติทุกประเภทที่มีอยู่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าแหล่งทรัพยากรน้ำของประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังอยู่ห่างจากระดับความเพียงพอของความต้องการใช้น้ำของประชากรในประเทศเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีพื้นที่เกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลักใหญ่อยู่อีกถึง 82.6% ดังนั้น จึงทรงคาดการณ์ว่า  ก่อนที่จะถึงสภาพที่สุดวิสัยหรือยากเกินกว่าจะแก้ไขได้นั้นควรจะมีมาตรการหนึ่งที่จะป้องกันและแก้ไขปัยหาดังกล่าวได้ จึงพระราชทานพระราชดำริในปี พ.ศ. 2499 แก่  ม.ล.เดช  สนิทวงศ์  ว่า น่าจะมีลู่ทางที่จะคิดค้นหาเทคนิคหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ด้านการดัดแปรสภาพอากาศมาช่วยให้เกิดการก่อและรวมตัวของเมฆให้เกิด ฝน  ได้   การรับสนองพระราชดำริได้ดำเนินการอย่างจริงจังจากความร่วมมือกันระหว่าง ม.ล.เดช สนิทวงศ์   ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ  จักรพันธุ์  และ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์  เทวกุล ในอันที่จะศึกษาและนำวิธีการทำฝนอย่างในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับสภาพอากาศของเมืองไทย ฝนหลวง หรือ ฝนเทียม  จึงมีกำเนิดจึ้นจากการสนองพระราชดำริ โดยประยุกต์ใช้จากผลการวิจัยค้นคว้าทางวิชาการด้านทำฝนเทียมของประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา  ออสเตรเลีย และอิสราเอล ภายใต้การพระราชทานข้อแนะนำจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดพร้อมกันนี้ได้มีการจัดตั้งส่วนราชการ สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ขึ้น รับผิดชอบการดำเนินการฝนหลวงในระยะเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ในระยะแรกของการดำเนินการตามพระราชดำรินี้ ข้อมูล หรือหลักฐานที่นำมาทดลองพิสูจน์ยืนยันผลนั้นยังมีน้อยมาก และขาดความน่าเชื่อถือทางวิชาการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยเรายังไม่มีนักวิชาการด้านการัดแปรสภาพอากาศ หรือนักวิชาการทำฝนอยู่เลย ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองปฏิบัติการฝนหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงติดตามผล วางแผนการทดลองปฏิบัติการ โดยทรงสังเกตจากรายงานแทบทุกครั้งอย่างใกล้ชิด